ระวังภาวะแทรกซ้อนอันตราย! สำหรับผู้ป่วยติดเตียง

ภาวะผู้ป่วยติดเตียง (Bedridden) คืออะไร?
เป็นสภาวะที่ผู้ป่วยไม่สามารถเคลื่อนไหวหรือย้ายตัวเองออกไปจากเตียงได้ ไม่สามารถช่วยเหลือหรือทำกิจกรรมต่างๆ ด้วยตัวเองได้ เนื่องจากสุขภาพร่างกายไม่เอื้ออำนวยให้ลุกไปกิจกรรมต่างๆ เช่น โรคทางสมอง, โรคระบบกล้ามเนื้อหรือกระดูก หรือโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาทและกล้ามเนื้อ เป็นต้น เพราะฉะนั้น ผู้ที่มีภาวะผู้ป่วยติดเตียงจำเป็นจะต้องมีผู้ดูแล คอยช่วยเหลืออย่างใกล้ชิด
โรคอันตรายที่อาจนำไปสู่ภาวะติดเตียง
- โรคหลอดเลือดสมอง (Stroke)
- โรคพาร์กินสัน (Parkinson's Disease)
- โรคสมองเสื่อม (Dementia)
- มะเร็งระยะสุดท้าย (Terminal Cancer)
- อาการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ (Trauma Injuries)
- โรคข้อเสื่อม (Osteoarthritis)
- โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง (Muscular Dystrophy)
- โรคหัวใจ (Heart Disease)
- โรคไต (Kidney Disease)
- โรคปอด (Respiratory Diseases)
- ภาวะซึมเศร้า (Depression)
- โรคเบาหวาน (Diabetes)
- โรคเส้นประสาท (Neurological Disorders)
- โรคไขข้ออักเสบ (Rheumatoid Arthritis)
- โรคซึมเศร้าและวิตกกังวล (Mental Health Disorders)
ภาวะแทรกซ้อนในผู้ป่วยติดเตียง
1. แผลกดทับ
เมื่อผู้ป่วยนอนบนเตียงนานๆ ไม่เคลื่อนไหวร่างกายก็จะทำให้เกิดแผลกดทับได้ โดยแผลอาจเกิดขึ้นบริเวณที่มีกระดูกใกล้ผิวหนัง เช่น สะโพก, ส้นเท้า, ข้อศอก หรือกระดูกก้นกบ หากไม่ดูแลให้ดี แผลเหล่านี้อาจลุกลามและติดเชื้อได้
2. สูญเสียมวลกล้ามเนื้อ
การนอนติดเตียงทำให้กล้ามเนื้อไม่ได้ถูกใช้งาน ทำให้กล้ามเนื้อค่อยๆ อ่อนแรงและสูญเสียมวลกล้ามเนื้อ ซึ่งอาจทำให้การเคลื่อนไหวหลังจากนั้นยากขึ้นและต้องใช้เวลาฟื้นฟูมากขึ้น
3. ภาวะการไหลเวียนเลือดไม่ดี
การนอนอยู่ในท่าเดิมนานๆ ทำให้การไหลเวียนเลือดบกพร่อง ทำให้เกิดอาการบวม หรือเส้นเลือดอุดตัน โดยเฉพาะในขาและเท้า ซึ่งอาจทำให้เสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดในหลอดเลือด
4. ปัญหาทางเดินหายใจ
การนอนอยู่บนเตียงตลอดเวลา อาจทำให้ปอดข้างหนึ่งหดตัวหรือหายใจไม่เต็มที่ ส่งผลให้เกิดการติดเชื้อในปอด เช่น ปอดบวม การไอ หรือการหายใจลำบาก
5. ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ
ผู้ป่วยติดเตียงอาจประสบปัญหาเกี่ยวกับการควบคุมปัสสาวะหรือการใช้อุปกรณ์ช่วย (เช่น สายสวนปัสสาวะ) ซึ่งอาจทำให้เกิดการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ หากมีการดูแลที่ไม่ดีพอ
6. ภาวะท้องผูก
เมื่อการเคลื่อนไหวร่างกายลดลง ก็ทำให้การทำงานของระบบทางเดินอาหารช้าลง ผู้ป่วยอาจประสบปัญหาท้องผูก ซึ่งถ้าหากไม่ได้รับการดูแลอย่างถูกต้องอาจนำไปสู่ภาวะท้องอืดหรือปัญหาที่รุนแรงขึ้นได้
7. ภาวะซึมเศร้าหรือวิตกกังวล
การที่ผู้ป่วยต้องนอนติดเตียงอยู่ตลอด ทำให้สามารถออกไปเจอผู้คน ไม่ได้พูดคุยกับใคร อาจทำให้รู้สึกเหงา เครียด หรือหมดกำลังใจได้ ซึ่งอาจส่งผลต่อการฟื้นตัวจากโรคหรืออาการต่างๆ ช้าลงได้
8. สูญเสียความสามารถในการรับรู้และการคิด
การขาดการกระตุ้นทางจิตใจและสังคม จะทำให้ความสามารถในการคิดและความจำถดถอย หรืออาจทำให้เกิดภาวะสมองเสื่อมได้
9. สูญเสียความยืดหยุ่นของข้อต่อ
เมื่อต้องนอนท่าเดิมอยู่ตลอดเวลา อาจทำให้ข้อต่อในร่างกายมีความยืดหยุ่นลดลง และอาจเกิดการหดตัวของกล้ามเนื้อและข้อต่อ ส่งผลให้การเคลื่อนไหวในภายหลังยากขึ้น
10. ขาดสารอาหารและขาดน้ำ
ผู้ป่วยติดเตียงมักจะทานอาหารหรือดื่มน้ำเองลำบาก หรือไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้เลย ส่งผลให้ขาดสารอาหารและน้ำ ร่างกายก็จะอ่อนแอและฟื้นตัวช้าลง นอกจากนี้ยังอาจทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลงและเพิ่มความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ
11. ความเสื่อมของกระดูก
เมื่อร่างกายไม่ได้เคลื่อนไหว หรือไม่ได้เดินเป็นเวลานานๆ กระดูกจะสูญเสียมวลและความหนาแน่น ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการหักกระดูก
วิธีดูแลผู้ป่วยติดเตียงเบื้องต้น
- เปลี่ยนท่านอนให้บ่อยๆ ทุก 2 ชั่วโมง เพื่อป้องกันแผลกดทับ
- คอยรักษาความสะอาดอยู่เสมอ ทั้งร่างกายผู้ป่วย และเตียงของผู้ป่วยเอง
- พายืดเส้น หรือออกกำลังกายเบาๆ กระตุ้นการเคลื่อนไหว เช่น การยืดขาและหมุนตัว
- ดูแลแผลกดทับ หากมีแผลกดทับ ควรทำแผลและติดตามอาการอย่างใกล้ชิด
- ดูแลเรื่องโภชนาการอาหารและน้ำ ผู้ป่วยต้องได้รับสารอาหารและน้ำที่เพียงพอ
- ตรวจสุขภาพประจำวัน สังเกตอาการผิดปกติ เช่น ไข้ หรืออาการบวม เป็นต้น
- ดูแลสุขภาพจิตใจ หมั่นพูดคุยและให้กำลังใจอยู่เสมอ เพื่อป้องกันภาวะซึมเศร้า
การดูแลผู้ป่วยติดเตียงเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน ผู้ดูแลต้องใช้ทั้งความเข้าใจ เอาใจใส่ และความเสียสละ เพื่อดูแลผู้ป่วยติดเตียง หากทำการดูแลผู้ป่วยอย่างถูกต้องและเข้าใจ การดูแลที่ดีก็จะช่วยลดภาวะแทรกซ้อนและทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้
มายลักษณ์เนอร์สซิ่งโฮม ศูนย์ดูแลผู้ป่วยและผู้สูงอายุ พร้อมด้วยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและเจ้าหน้าที่ผู้มีประสบการณ์ คอยดูแลคนที่คุณรักอย่างใกล้ชิดอยู่ตลอด 24 ชม. เพื่อฟื้นฟูสุขภาพร่างกาย และจิตใจให้ผู้ป่วยหรือผู้สูงอายุ มีสุขภาพกายและสุขภาพจิตที่ดีขึ้น สนใจติดต่อสอบถาม @mylucknursinghome
บทความที่คุณอาจสนใจ

เนอร์สซิ่งโฮม (Nursing Home) คือ อะไร ?

โภชนาการสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน

เสริมสร้างสุขภาพจิตให้แก่ผู้ป่วยติดเตียง

มารู้จักภาวะกลืนลำบากในผู้สูงอายุ กับ 5 วิธีแก้ปัญหา

ข้อควรระวังในการให้อาหารทางสายยางแก่ผู้ป่วย
