กินอะไรเสี่ยงต่อการเป็นเก๊าท์ ? เรามีคำตอบ
ปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่ออายุเริ่มมากขึ้น โรคภัยต่าง ๆ ก็ตามมาเป็นเรื่องปกติ “โรคเก๊าท์” ถือเป็นอีก 1 ความเจ็บป่วยที่มักพบได้บ่อยเมื่อเข้าสู่วัยสูงอายุ สามารถเกิดขึ้นกับทั้งผู้ชายและผู้หญิง (แต่มักพบกับผู้ชายมากกว่า) ปัจจัยหลักมาจากได้รับโปรตีนบางชนิดมากเกินไปและรับเป็นเวลานาน ส่งผลให้เกิดการย่อยสลายเปลี่ยนสภาพเป็นกรดยูริคแล้วไปตกตะกอนตามเนื้อเยื่อรอบข้อ รวมถึงตรงส่วนของข้อต่าง ๆ ในร่างกาย ผู้ป่วยจึงมักมีอาการปวด บวมบริเวณข้อ
ช่วงอายุที่มักพบโรคเก๊าท์
ส่วนใหญ่แล้วคนที่มีอายุ 30 ปี ขึ้นไป สามารถพบเจอกับโรคนี้ได้ หากทานอาหารบางชนิดเป็นประจำ แต่ส่วนใหญ่อาการที่เริ่มแสดงออกจริง ๆ ชนิดอักเสบแบบเฉียบพลันตามข้อ เช่น ข้อมือ, ข้อนิ้วมือ, ข้อนิ้วเท้า, โคนนิ้วโป้ง, ข้อศอก ฯลฯ ผู้ป่วยมักมีอายุตั้งแต่ 40 ปี เป็นต้นไป แม้โรคเก๊าท์อาจดูไม่ร้ายแรงถึงขั้นชีวิต แต่ความทุกข์ทรมานที่ผู้ป่วยได้รับก็หนักหนาไม่แพ้กับโรคอื่น ๆ ด้วยเหตุนี้หากเข้าใจและรู้วิธีปฏิบัติตนเองอย่างถูกต้อง จะช่วยลดความเสี่ยงการเกิดโรคดังกล่าวขึ้นได้
ทานอาหารให้ถูกหลัก โรคเก๊าท์ก็ไม่ถามหา
สาเหตุหลัก ๆ ที่ทำให้เกิดโรคเก๊าท์ขึ้นมาจากการเลือกทานอาหารที่มีโปรตีนบางชนิดเยอะเกินไปจนถูกเปลี่ยนเป็นกรดยูริค การเลือกทานอาหารอย่างถูกหลักจะทำให้ผู้สูงอายุลดโอกาสเสี่ยงในการเกิดได้มากขึ้น
โดยอาหารที่ไม่แนะนำให้ทานคือ
- ส่วนต่าง ๆ ของสัตว์ปีกจำพวกเป็ด ไก่ ทั้งบริเวณเนื้อ, เครื่องใน
- ผักบางจำพวก อาทิ เห็ด ชะอม กระถิน หน่อไม้ ขี้เล็ก ยอดอ่อนต่าง ๆ
- เครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- สัตว์ทะเลหรืออาหารทะเลแปรรูปบางชนิด เช่น กะปิ, ไข่ปลา, หอย, กุ้ง, ปลาซาร์ดีน
- ปลาบางชนิด เช่น ปลาไส้ตัน, ปลาอินทรีย์, ปลาดุก
- ถั่วเกือบทุกชนิด อาทิ ถั่วเหลือง, ถั่วเขียว, ถั่วแระ, ถั่วแดง
โดยอาหารที่แนะนำให้ทานคือ
- อาหารที่มีสารพิวรีนน้อย ๆ เช่น ธัญพืช, นม, ไข่, ผักสด ผลไม้
- เนื้อสัตว์บางประเภทในปริมาณน้อย ๆ เช่น เนื้อวัวไม่มัน, เนื้อหมูไม่มัน, ปลากะพงแดง, เนื้อปู, ปลาหมึก
- ถั่วบางประเภทปริมาณน้อย เช่น ถั่วลันเตา, ถั่วลิสง
- ผักบางชนิดทานได้แต่พอดี เช่น สะตอ, ผักโขม, ดอกกะหล่ำ
อย่างที่กล่าวว่าปัจจัยสำคัญของการเกิดโรคเก๊าท์ส่วนใหญ่มาจากอาหารที่เลือกทาน ดังนั้นต้องเปลี่ยนตนเองใหม่โดยเฉพาะผู้สูงอายุและคนที่เริ่มรู้สึกว่าตนเองมีอาการแสดงถึงโรค เพื่อไม่ต้องทนกับความเจ็บปวดพร้อมใช้ชีวิตอย่างมีความสุข
สนใจบทความอื่นๆ ผู้ป่วยเบาหวานควรอานอาหารอย่างไร