สัญญาณเข้าสู่อาการวัยทองในผู้หญิง กับช่วงประจำเดือนหมด และอาการอื่น ๆ ที่ต้องเตรียมรับมือ
เชื่อว่าผู้อ่านหลาย ๆ ท่านคงเคยได้ยินกับคำว่า “วัยทอง” กันมาบ้าง แต่หลายท่านเอง อาจจะยังไม่เข้าใจว่าจริง ๆ แล้ว อาการวัยทองนั้น มีจริงใช่ไหม? และมีอาการเป็นอย่างไรบ้าง? สำหรับบทความนี้ My Luck จะพาไปทำความเข้าใจกับอาการวัยทองให้มากขึ้นกัน เพื่อให้ทั้งคุณผู้อ่าน ที่อาจเป็นผู้สูงอายุ ได้เข้าใจกับอาการที่อาจเกิดกับตัวท่าน หรือแม้ถ้าท่านไม่ใช่ผู้สูงอายุ ท่านจะได้ทำความเข้าใจคนที่ท่านรักได้มากขึ้น อย่างแน่นอน
1. อาการวัยทอง เป็นอย่างไร?
อาการวัยทอง คือ อาการที่ร่างกายเริ่มมีภาวะฮอร์โมนเพศลดลง สามารถเกิดได้กับทางผู้หญิงและผู้ชาย ซึ่งเมื่อฮอร์โมนเพศนี้หมดลง จึงส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ภายในร่างกาย ไม่ว่าจะเป็น สภาพทางด้านร่างกาย และ สภาพทางด้านอารมณ์จิตใจ ดังนั้น หากเรารู้ทันอาการต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น ก็จะช่วยให้เราเข้าใจกับสิ่งที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปของร่างกายได้
อย่างที่ได้กล่าวไปว่า อาการวัยทองในผู้หญิง และอาการวัยทองผู้ชาย มีได้ด้วยกันทั้งคู่ แต่ว่า จะมีความแตกต่างกันอย่างไร? ลองตามไปอ่านต่อกัน
2. อาการวัยทองในผู้หญิง
สำหรับผู้หญิง เมื่อเข้าสู่ช่วงวัยทอง ร่างกายจะหยุดการสร้างฮอร์โมนเพศหญิงที่ชื่อว่า เอสโตรเจน (Estrogen) และ โปรเจสเตอโรน (Progesterone) โดยที่หากร่างกายหยุดการผลิตฮอร์โมนครบ 1 ปี จะทำให้ประจำเดือนหมด หรือเข้าสู่ช่วงวัยทองอย่างสมบูรณ์
เกร็ดความรู้
ฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ทำหน้าที่สำคัญในการควบคุมระบบสืบพันธุ์ของผู้หญิง หรือก็คือ ควบคุมการผลิตรังไข่เป็นส่วนใหญ่ ส่วน ฮอร์โมนโปรเจสเตอโรน (Progesterone) มีหน้าที่ควบคุมภาวะไข่ตก และการมีประจำเดือน
โดยอาการวัยทองในผู้หญิงที่เกิดขึ้นได้ ได้แก่
- ประจำเดือนหมด
- ช่องคลอดแห้ง จนทำให้อาจรู้สึกเจ็บในเวลาที่มีเพศสัมพันธ์
- ความต้องการทางเพศลดลง
- มีอารมณ์แปรปรวนง่าย ทำให้มีอาการหงุดหงิด วิตกกังวลง่ายขึ้น
- มีอาการร้อนวูบวาบ (Hot Flush) โดยเฉพาะในบริเวณส่วนบนของร่างกาย เช่น บริเวณใบหน้า, ช่วงคอ และอก โดยอาจมีอาการประมาณ 1-5 นาที ร่วมกับอาการเหงื่อออก, หนาวสั่น ทำให้อาจนอนหลับยากขึ้นได้
- ผิวหนังขาดความยืดหยุ่น ทำให้ผิวบาง เป็นแผล กระ ได้ง่ายขึ้น
- ปวดปัสสาวะบ่อยขึ้น และควบคุมการกลั้นปัสสาวะได้น้อยลง
- ความเสี่ยงในการเป็นโรคกระดูกพรุน
- ความเสี่ยงในการเป็นโรคอัลไซเมอร์
เมื่อผู้หญิงเข้าสู่วัยทอง จะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงทั้งทางร่างกาย และสภาวะทางอารมณ์
ประจําเดือนหมด อายุเท่าไหร่?
อายุเฉลี่ยสำหรับผู้หญิงที่จะเริ่มประจำเดือนหมด จะอยู่ในช่วง 45-50 ปีเป็นต้นไป โดยอาจมาเร็วหรือช้ากว่านี้ได้ ขึ้นกับสภาพร่างกายและกรรมพันธุ์ของแต่ละบุคคล
อาการก่อนหมดประจําเดือน วัยทอง
ก่อนถึงวัยหมดประจําเดือน อาการในช่วงเริ่มแรก ประจำเดือนจะเริ่มมาไม่ค่อยคงที่ โดยจะเริ่มมาไม่สม่ำเสมอ และทิ้งระยะเวลานานขึ้น พร้อมกับร่างกายจะเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงตามอาการวัยทอง ได้แก่ อารมณ์เริ่มแปรปรวนง่ายขึ้น, มีอาการร้อนวูบวาบตามร่างกาย, ปวดเมื่อยตามกระดูกและข้อ, นอนหลับยากขึ้น เป็นต้น
3. อาการวัยทองผู้ชาย
อาการวัยทอง ไม่ได้เกิดแค่เฉพาะในผู้หญิงเท่านั้น ผู้ชายเองก็มีอาการวัยทองได้เช่นกัน เพียงแต่อาการอาจไม่ได้แสดงชัดเจนเท่ากับเพศหญิง เนื่องจากการลดลงของฮอร์โมนเพศชายจะเป็นไปอย่างช้า ๆ การเปลี่ยนแปลงในผู้ชายจึงอาจไม่ได้สังเกตเห็นได้ทันทีเหมือนในผู้หญิง โดยอาการวัยทองผู้ชายนั้น เกิดจากการที่ฮอร์โมนแอนโดรเจน (Androgen) และฮอร์โมนเทสโทสเทอโรน (Testosterone) มีการลดลงอย่างช้า ๆ โดยเฉพาะเมื่ออายุเริ่มเข้าสู่วัย 40 ปีขึ้นไป
เกร็ดความรู้
ฮอร์โมนแอนโดรเจน (Androgen) เป็นฮอร์โมนที่ส่งผลต่อการเจริญเติบโตของอวัยวะสืบพันธุ์และลักษณะเพศชาย ซึ่งฮอร์โมนแอนโดรเจนเกือบทั้งหมดจะถูกเปลี่ยนให้เป็นฮอร์โมนเทสโทสเทอโรน (Testosterone)
โดยอาการวัยทองในผู้ชายที่เกิดขึ้น จะมีความคล้ายกับอาการวัยทองในผู้หญิง ได้แก่
- อารมณ์ความต้องการทางเพศลดลง
- สมรรถภาพทางเพศลดลง หรือบางรายอาจเกิดอาการสมรรถภาพทางเพศหย่อนยาน อวัยวะไม่แข็งตัว
- มีอารมณ์แปรปรวนง่ายได้เช่นเดียวกับผู้หญิง
- มีอาการอ่อนเพลียได้ง่าย ปวดเมื่อยตัวได้ง่าย อาจรู้สึกเดี๋ยวร้อน เดี๋ยวหนาว ทำให้อาจรู้สึกนอนหลับยาก
- ผิวหนังขาดความยืดหยุ่น ทำให้ผิวบาง เป็นแผล กระ ได้ง่ายขึ้น ได้เช่นกัน
- ความเสี่ยงในการเป็นโรคกระดูกพรุน เนื่องจากกระดูกบางลง
อาการวัยทองผู้ชาย เริ่มที่อายุเท่าไหร่?
อายุเฉลี่ยสำหรับผู้ชายที่เริ่มเข้าสู่วัยทอง จะอยู่ในช่วง 50-55 ปีเป็นต้นไป โดยอาจมาเร็วหรือช้ากว่านี้ได้ ขึ้นกับสภาพร่างกายและกรรมพันธุ์ของแต่ละบุคคล
4. อาการวัยทอง วิธีรักษามีไหม? ทำยังไงได้บ้าง?
เป็นการยากที่จะหลีกเลี่ยงกับการประสบปัญหาอาการวัยทอง เพราะเกิดจากกลไกของร่างกายมนุษย์เรา ถึงแม้เราจะหลีกเลี่ยงอาการเหล่านี้ไม่ได้ แต่เราก็สามารถเตรียมรับมือ เตรียมสุขภาพร่างกายและจิตใจ ให้รู้เท่าทันและพร้อมรับมือกับอาการวัยทองได้
อาการวัยทอง วิธีรักษามีอยู่หลายวิธี สามารถปรึกษาผู้เชี่ยวชาญได้
- พักผ่อนให้เพียงพอ
พยายามเข้านอน ตื่นนอนให้เป็นเวลา เพื่อให้ร่างกายได้คุ้นชินและมีการพักผ่อนอย่างเพียงพอ
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
แนะนำเป็นการออกกำลังกายที่ไม่ใช้แรงมาก เช่น โยคะ, ว่ายน้ำ, เดินหรือวิ่งเบา ๆ เป็นต้น (ออกกำลังกายง่าย ๆ ด้วยท่ากายบริหารสำหรับผู้สูงอายุ)
- รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่
โดยเน้นอาหารที่มีแคลเซียมสูง อย่างเช่น นม (ที่เหมาะกับร่างกายผู้บริโภคแต่ละคน), โยเกิร์ต, พืชตระกูลถั่ว, ปลา และงดอาหารที่มีแป้งและไขมันสูง เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรคอื่น ๆ (สามารถอ่านสาระเรื่องของอาหารที่เหมาะกับผู้สูงอายุเพิ่มเติมได้ที่บทความ สารอาหารที่จำเป็นสำหรับผู้สูงอายุ)
- จำกัดปริมาณคาเฟอีน แอลกอฮอล์ และงดสูบบุหรี่
พยายามลดปริมาณการบริโภคคาเฟอีน หากเป็นคนที่ติดการดื่มกาแฟ แนะนำให้ปรับเป็นกาแฟชนิดที่ไม่มีคาเฟอีน (หรือเรียกกันว่า กาแฟ Decaf) รวมทั้งลดหรืองดการดื่มแอลกอฮอล์ และการสูบบุหรี่ เพื่อสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง
- ตรวจคัดกรองสุขภาพเป็นประจำ
อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เพื่อตรวจเช็คการทำงานของระบบต่าง ๆ ในร่างกาย อาทิ ความดันโลหิต, มะเร็งปากมดลูก, มะเร็งเต้านม, มวลความหนาแน่นของกระดูก เป็นต้น
- รักษาโดยวิธีทางการแพทย์
การให้ฮอร์โมนทดแทน (Hormone Replacement Therapy) เป็นวิธีที่ใช้กับผู้ที่มีอาการวัยทองขั้นรุนแรง และไม่เข้าข่ายในการห้ามใช้ (กลุ่มเสี่ยงที่ห้ามใช้ฮอร์โมนทดแทน ได้แก่ ผู้ที่มีประวัติมะเร็งเต้านม และมะเร็งมดลูก, ผู้ที่เป็นโรคตับ, ผู้ที่เกิดลิ่มเลือดที่เท้า, ผู้ที่มีประจำเดือนผิดปกติโดยไม่ทราบสาเหตุ)
ใช้กลุ่มยาที่ไม่ใช่ฮอร์โมนเพศหญิง (Non-hormonal Treatment) เช่น กลุ่มยาที่ใช้รักษาอาการโรคซึมเศร้า
การออกกำลังกาย เป็นอีกวิธีที่ช่วยเพิ่มความแข็งแรงให้ร่างกาย และช่วยลดความเครียดได้
อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ผู้อ่านหลาย ๆ ท่านน่าจะได้ทำความเข้าใจกับ “อาการวัยทอง” กันเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แม้ว่าอาการวัยทองจะดูเหมือเป็นเรื่องปกติที่มนุษย์เราต้องเจอ แต่หากตัวผู้สูงอายุเองและคนในครอบครัว มีความเข้าใจ และเตรียมพร้อมในการรับมือกับอาการที่ต้องเจอเหล่านี้ได้ทันท่วงที ก็จะช่วยให้สุขภาพความเป็นอยู่และความสัมพันธ์ในครอบครัว เป็นไปในทางที่ดีแน่นอน
สำหรับท่านใดที่อยากปรึกษาเรื่องการดูแลผู้สูงอายุ My Luck Nursing Home ของเราเชี่ยวชาญด้านนี้โดยเฉพาะ สามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้เลย ที่ @mylucknursinghome